รู้จัก “ลิเทียม” คืออะไร แร่สำคัญในการผลิต แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
แร่ลิเทียม ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงนี้ หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรม สำรวจพบแหล่งแร่ลิเทียม พบมีจำนวนมากกว่า 14 ล้านตัน ส่งผลให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่ค้นพบแร่ลิเทียมมากที่สุด อันดับ 3 ของโลก ทางรัฐบาลจึงเตรียมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใหญ่ในภูมิภาค
สำหรับแร่ลิเทียม ถือว่าเป็นแร่ที่สำคัญต่ออุตสาหรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ของโลกเป็นอย่างมาก ในช่วงที่แร่ลิเทียมขาดแคลนลงไปในทุกวัน ซึ่งสวนทางความต้องการใช้แร่ลิเทียมที่สูงขึ้นในทุกปี สำรวจคุณสมบัติและคุณประโยชน์ของแร่ลิเทียมไปพร้อมกัน
ทำความรู้จัก แร่ลิเทียม คืออะไร
ลิเทียม (Lithium) มีสัญลักษณ์ Li เลขอะตอม 3 เป็นธาตุที่อยู่ในกลุ่มโลหะอัลคาไลน์ ซึ่งลิเทียมบริสุทธิ์ เป็นโลหะที่อ่านนุ่ม มีสีขาวเงิน เป็นธาตุของแข็งที่น้ำหนักเบาที่สุด และโลหะไม่กี่ชนิดที่สามารถรับและปล่อยกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง มักนำมาผลิตแบตเตอรรี่ไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย รวมถึงยาบางชนิดที่ใช้ควบคุมอารมณ์ (Mood Stabilizer) ที่ใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
สำหรับลิเทียม ถือว่าเป็นโลหะที่เบาที่สุด มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ มีคุณสมบัติของโลหะอัลคาไลน์เอิร์ธ ในหมู่ 2 เป็นธาตุที่มีความว่องไวในการทำปฏิกิริยาสูง แต่จะน้อยกว่าในโลหะหมู่ที่ 1 ลิเทียมอ่อนนิ่มจนสามารถใช้มีดตัดได้ หากอยู่ในรูปโลหะบริสุทธิ์ สามารถติดไฟและเกิดการระเบิดค่อนข้างง่ายเมื่อสัมผัสกับอากาศ ทั้งยังไม่สามารถดับไฟด้วยน้ำได้
ด้วยคุณสมบัติลิเทียมที่มีน้ำเบา จึงเกิดการสึกกร่อนได้ง่าย ทำให้ต้องระมัดระวังในการหยิบจับ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงผ่านผิวหนัง หากใช้เป็นยาต้องระมัดระวังในการรับประทาน เนื่องจากลิเทียมไอออน (Li+) จะทำให้เลือดมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น
การสำรวจแหล่งค้นพบแร่ลิเทียมในปัจจุบัน ซึ่ง 6 ประเทศทั่วโลกที่มีการค้นพบแร่ลิเทียมมากที่สุด ได้แก่ โบลิเวีย 21 ล้านตัน, อาร์เจนตินา 19 ล้านตัน, ไทย 14.8 ล้านตัน, ชิลี 9.8 ล้านตัน, สหรัฐอเมริกา 9.1 ล้านตัน, ออสเตรเลีย 7.3 ล้านตัน และ จีน 5.1 ล้านตัน
ประโยชน์ของแร่ลิเทียม
สำหรับประโยชน์ของแร่ลิเทียม นำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการแพทย์ เทคโนโลยี รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งแร่ลิเทียมสามารถแปรสภาพได้เป็นสิ่งของต่าง ๆ ดังนี้
-
- แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟ (Rechargeable Battery) หรือที่นิยมเรียกกันว่า แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อาทิ จักรยานไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต อุปกรณ์ตรวจวัด เครื่องมือกล เครื่องกระตุ้นหัวใจภายนอกแบบอัตโนมัติ และ โดรน
- เครื่องแก้ว เซรามิก รวมถึงกระจกกล้องโทรทรรศน์
- ยาปรับอารมณ์ (Mood Stabilizer) สำหรับผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า
- ใช้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ในยานอวกาศและเรือดำน้ำ
- ฯลฯ
ในอนาคตแร่ลิเทียมมีความสำคัญอย่างมาก ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เพื่อนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีการเติบโตของตลาดเพิ่มขึ้นสูงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงเป็นแร่ที่ทั่วโลกต้องการใช้อย่างเร่งด่วน จนมีผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า โลกอาจต้องประสบปัญหาภาวะลิเทียมขาดแคลนในปี 2025
การค้นพบแร่ลิเทียมในไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แห่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม ทั้งยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในภาคอีสานปริมาณสำรองเป็นจำนวนมาก โดยแร่ทั้งสองนี้ ถือว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถไฟฟ้า (EV)
จากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบว่า ไทยสำรวจพบแร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน ซึ่งทำให้ไทย เป็นประเทศที่ค้นพบแร่ลิเทียมมากที่สุด เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวีย และ ประเทศอาร์เจนตินา ทั้งนี้รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่า ความต้องการของแร่ลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2568 และจะต้องการมากขึ้นกว่า 2 ล้านตัน ภายในปี 2573
ทางรัฐบาลได้คาดการณ์เพิ่มเติมอีกว่า การค้นพบแร่ลิเทียมในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองแร่ลิเทียมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงดึงดูดให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงาน เพื่อทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าหลักของภูมิภาค
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง : วิกิพีเดีย, Salika