ข่าวข่าวการเมือง

‘ณัฐชา’ ถาม เด็กฆ่าคน มีโทษเท่าผู้ใหญ่หรือยัง รับคดี ‘ป้าบัวผัน’ เป็นเรื่องสะเทือนขวัญ

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ถาม เด็กฆ่าคน มีโทษเทียบเท่าผู้ใหญ่หรือยัง รับคดี ป้าบัวผัน เป็นเรื่องสะเทือนขวัญ รับไม่ได้กับเหตุที่เกิดขึ้น

นาย ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงคดีป้าบัวผันว่า สังคมรับรู้รับทราบดีว่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นหลายครั้ง ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นลูกของเจ้าหน้าที่ที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ ก็จะเกิดการให้บุคคลที่ 3 ที่มีฐานะยากจนรับโทษแทน

ครั้งนี้เป็นเหตุน่าสะเทือนใจ โดยเฉพาะผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่น่ากระทำความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จึงต้องติดตามต่อไปว่าคดีจะมีความคืบหน้าอย่างไร

เมื่อถามว่าสังคมสงสัยเรื่องโทษที่เด็กได้รับ กระทรวงยุติธรรมโยนให้สภาฯ แก้กฎหมาย นายณัฐชา กล่าวว่า การลดโทษให้เด็กลงหรือการให้เข้าสถานพินิจ เพราะกฎหมายมองว่าเด็กอาจจะทำความผิดครั้งแรก ไม่ได้ตั้งใจหรือวางแผนตระเตรียม เพื่อไปกระทำความผิด

จึงไม่อยากให้เป็นตราบาปไปตลอดชีวิตโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงมีช่วงอายุในการรับโทษขึ้นมา ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น จนถึงแก่ความตายของบุคคลที่ 2 หรือ 3 แน่นอนว่าผู้เสียหายก็ไม่ยอมที่ผู้กระทำความผิดได้รับโทษน้อยลง

“ในตัวบทกฎหมายเราให้โอกาสเด็ก แต่การให้โอกาสนั้น ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า วันนี้สิ่งที่เด็กกระทำมีความผิดเทียบเท่าผู้ใหญ่แล้วหรือยัง การฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยการรุมทำร้ายหรืออะไรต่างๆ แน่นอนว่าเกินกว่าเหตุ เกินกว่าความเป็นเด็กไปมาก เราก็อาจจะรับไม่ได้” นายณัฐชา กล่าว

โดยเฉพาะเด็กที่เป็นลูกของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อาจมีการช่วยเหลือให้ท้ายหรือปล่อยปละละเลยจนทำให้เกิดเหตุขึ้น หรือเป็นพฤติกรรมแวดล้อมที่คนในครอบครัวกระทำเป็นประจำ ทำให้เกิดการเลียนแบบ จนทำให้เด็กคิดว่าตนเองจะไปทำอะไรก็ได้ เช่น ไปจับโจร ไปตามล่าผู้ที่มากลั่นแกล้งตนเอง โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อกฎหมาย

เมื่อถามว่าหลายคนมองว่าเด็กไม่ควรได้รับสิทธิ์คุ้มครองแบบนี้ มีโอกาสที่จะยกเว้นในกรณีนี้หรือไม่ นายณัฐชา ยกตัวอย่างกรณีที่ทำให้ถึงแก่ความตาย และเกิดความเสียหายต่อสังคมเป็นวงกว้าง เราอาจจะส่งนักจิตวิทยาไปช่วยสืบหาข้อเท็จจริงก็ได้ ว่าเด็กกลุ่มนี้กระทำเช่นนี้เป็นประจำหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงอาจจะเกิดมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่เป็นคดี เช่น ยกพวกทะเลาะวิวาท ก่อนจะทำให้คนเสียชีวิต และแน่นอนว่าผู้เสียหายไม่ยอมต่อเรื่องนี้

“เราอาจจะเห็นในสังคม เวลาเกิดเหตุแรงๆ ขึ้น ก็จะเห็นการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ไปจับคนวิกลจริตมา บอกว่าเป็นโรคจิต แม้กระทั่งไปจับเด็กมา เด็กที่อยู่ในครอบครัวโดดเดี่ยวและยากจน เพื่อให้ได้รับโทษที่น้อยลง ซึ่งมีกระบวนการช่วยเหลือกันแบบนี้เป็นประจำอยู่แล้ว

ดังนั้น สังคมต้องยอมรับได้แล้ว เมื่อมีกลุ่มคนใดคนหนึ่งที่บทลงโทษน้อยกว่า แต่เป็นการกระทำความผิดแบบเดียวกัน เช่น ฆ่าคนตายเด็กรับโทษแบบหนึ่ง ผู้ใหญ่คนวิกลจริตรับอีกแบบหนึ่ง ก็จะมีกระบวนการช่วยเหลือ” นายณัฐชา กล่าว

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button