จับตา 12 ม.ค.! อธิบดีราชทัณฑ์ ไม่รู้ ‘ทักษิณ’ อนุญาตให้ กมธ.ตำรวจ เข้าเยี่ยมไหม
จับตาวันที่ 12 ม.ค จะได้เห็น ‘ทักษิณ’ ที่โรงพยาบาลตำรวจหรือไม่? ขณะที่อธิบดีราชทัณฑ์ไม่รู้ว่าผู้ป่วยอนุญาตให้ กมธ.ตำรวจ เข้าเยี่ยมไหม
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน ว่า ตนได้รับรายงานความเห็นจากแพทย์ผู้ตรวจรักษาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมรายงานไปยัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม สาเหตุที่รายงานล่าช้าเนื่องจากจำนวนผู้ต้องขังที่เข้ารักษาภายนอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน ไม่ได้มีเพียง 3 รายที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ตร.)
ตนในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็ต้องให้ความเห็นชอบ ตั้งแต่การนอนพักรักษาตัวเกินกว่า 60 วัน หรือเกินกว่า 120 วัน ซึ่งมีผู้ต้องขังเป็นหมื่นรายที่ต้องพิจารณา ในส่วนของอดีตนายกฯ หลังจากรายงานครั้งนี้แล้ว ก็จะไม่มีการรายงานการพักรักษาตัวเกินเวลาอีก
ส่วนความคืบหน้าระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 (ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ) ซึ่งมีการวางกรอบไว้เบื้องต้นแล้วว่าผู้ต้องขังคดีใดบ้างที่จะเข้าเกณฑ์ แต่การพิจารณาคงไม่ทันเดือน ก.พ.นี้ เพราะเนื้อหามีหลายประการ ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ อีกทั้งระเบียบคุมขังนอกเรือนจำมี 4 วัตถุประสงค์ ถ้าเป็นกลุ่มผู้ต้องขังป่วยก็อีกลักษณะหนึ่ง กลุ่มผู้ต้องขังที่ต้องได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยก็อีกอย่างหนึ่ง หรือกลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยก็จะเป็นอีกแบบ ดังนั้น ทุกกลุ่มมีแนวทาง หลักเกณฑ์ปฏิบัติแตกต่างกัน และยังจะต้องดูในส่วนของสถานที่คุมขังที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น หากเป็นบ้านพักจะต้องกำหนดเงื่อนไขใดบ้าง หรือหากเป็นพื้นที่ของมูลนิธิ เอกชน ก็จะต้องไปกำหนดเงื่อนไขหลักการปฎิบัติอย่างละเอียด
วันนี้จะมีการประชุมของคณะกรรมการราชทัณฑ์ เกี่ยวกับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ แต่ยังไม่มีการกำหนดผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะเข้าเกณฑ์ แต่เป็นการประชุมปกติของคณะกรรมการราชทัณฑ์ที่ต้องหารือในทุกๆ ประเด็น เช่น สถานที่สำหรับคุมขังในระหว่างถูกดำเนินคดี เพื่อที่จะแยกกลุ่มนักโทษเด็ดขาดออกจากผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี และการติดตามงาน นโยบายในการประชุมครั้งที่ผ่านมา อาทิ การนำร่องในสถานที่คุมขัง เป็นต้น ถือเป็นวาระปกติที่รัฐมนตรีจะต้องให้มีการประชุมทุกเดือน
สำหรับโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ แก่ผู้ต้องขังที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ถือเป็นคุณสมบัติของผู้ต้องขังอยู่แล้ว แต่ก็ต้องไปดูให้ถี่ถ้วน เพราะนักโทษมีเป็นแสนรายทั่วประเทศ และประโยชน์ที่ผู้ต้องขังจะได้รับมีหลายอย่าง เช่น ได้รับวันลดวันต้องโทษ หรือได้รับการพักโทษ หรือหากจำเป็นต้องได้รับการพระราชทานอภัยโทษก็เป็นอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ รายชื่อผู้ต้องขังที่จะเข้าเกณฑ์ผ่านโครงการพักการลงโทษกรณีพิเศษ ทางผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งจะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ต้องขังก่อนนำเสนอไปที่ รมว.ยุติธรรมอนุมัติ
ส่วนที่ รพ.ตำรวจอนุญาตให้ กมธ.ตำรวจเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลนั้น เป็นอำนาจพิจารณาของรพ.ตำรวจ แต่หากจะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังก็เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่จะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งตนไม่ทราบว่าอดีตนายกฯ อนุญาตหรือยัง หรือจะมีโอกาสได้เป็นตัวอดีตนายกฯ หรือไม่
ก่อนหน้านี้ นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการนำคณะกมธ.ฯ ไปศึกษาดูงานที่บริเวณชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ขณะนี้ได้รับหนังสือตอบรับจาก พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์(สบ.8) โรงพยาบาลตำรวจแล้ว ซึ่งทางโรงพยาบาลตำรวจ ให้ กมธ.ตำรวจ สภาฯ เดินทางไปถึงในเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ม.ค. 2567 และมอบหมายให้พ.ต.อ.สฤษติ์ พุทธพงษ์ศิริพร ผู้กำกับการฝ่ายยุทธศาสตร์ กองบังคับการอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นผู้ประสานงานในการศึกษาดูงาน