Line Newsท่องเที่ยว

รู้แล้ว ทำไมสัมภาระขึ้นเครื่องบิน ต้องไม่เกิน 7 กิโลกรัม

ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด กำหนดโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และหน่วยงานกำกับดูแลการบินของแต่ละประเทศ เป๊ะทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบและผลิตเครื่องบิน ไปจนถึงการฝึกอบรมของพนักงานการบิน ไม่แปลกใจว่าทำไมการนั่งเครื่องบิน จึงเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดในโลก

หนึ่งในกฎที่คนเดินทางหลายคนต้องคำนวณให้เป๊ะทุกครั้งก็คือ น้ำหนักกระเป๋าถือขึ้นเครื่องบิน ต้องไม่ให้เกิน 7 กิโลกรัม ใส่ในกระเป๋าที่มีความสูงxกว้างxยาว ไม่เกินที่แต่ละสายการบินกำหนด หากใหญ่หรือหนักกว่านั้น ต้องโหลดใต้ท้องเครื่อง

วันนี้ Thaiger พามาไขข้อสงสัยว่าทำไมกระเป๋าถือขึ้นเครื่องบิน ถึงต้องห้ามมีน้ำหนักเกิน 7 กิโล

1. เพื่อความปลอดภัย

เครื่องบินแต่ละลำต้องคำนึงถึง “การควบคุมน้ำหนักและความสมดุลของอากาศยาน” (Weight and Balance control) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดการปฏิบัติการบินของบริษัทผู้ผลิตอากาศยานนั้น ๆ ซึ่งน้ำหนักของกระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่อง 7 กิโลกรัมถูกคำนวณแล้วว่าเป็นค่ากลางที่จะนำไปเฉลี่ยกับน้ำหนักอื่น ๆ เช่น น้ำหนักของผู้โดยสาร น้ำหนักสัมภาระในห้องโดยสาร น้ำหนักสัมภาระใต้ท้องเครื่อง แล้วยังบินต่อได้อย่างปลอดภัย

เมื่อคำนวณน้ำหนักทั้งหมดทุกองคาพยพแล้ว พนักงานภาคพื้นดินจะรายงานน้ำหนักรวมให้นักบินทราบ จากนั้นนักบินวางแผนการบินต่อไป เพื่อให้พาทุกคนไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ การกำหนดขนาดและน้ำหนักของกระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่อง ยังคำนึงถึง “พื้นที่” และ “น้ำหนัก” ที่ช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะจะสามารถรองรับได้ และผู้โดยสารสามารถยกเก็บไว้ในช่องเก็บสัมภาระเหนือศีรษะหรือใต้เบาะนั่งได้โดยไม่รบกวนผู้โดยสารคนอื่น ๆ

อีกกรณีคือหากเกิดเครื่องบินตกหลุมอากาศ สั่นโคลงเคลงจนกระเป๋าตกจากที่เก็บ สัมภาระที่หนักมากเกินไปอาจหล่นลงมาทับผู้โดยสารจนบาดเจ็บสาหัสได้

ลองนึกภาพกระเป๋าหนัก 20 กิโลกรัมตกใส่หัว ไม่หัวแตกก็คอหักแน่นอน

2. เพื่อความเป็นธรรม

หากไม่มีการกำหนดน้ำหนักกระเป๋าเดินทางขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารบางคนอาจนำสัมภาระขึ้นเครื่องเป็นจำนวนมากจนเกินพิกัด เพราะต้องการประหยัดเงิน ไม่อยากเสียเงินค่าโหลดกระเป๋า ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารคนอื่น ๆ และความปลอดภัยของการบินได้

ดังนั้น การกำหนดน้ำหนักสัมภาระขึ้นเครื่องจึงช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้โดยสารทุกคน และช่วยให้สายการบินสามารถควบคุมปริมาณสัมภาระที่บรรทุกบนเครื่องบินได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สายการบินบางแห่งอาจอนุญาตให้ผู้โดยสารนำสัมภาระขึ้นเครื่องได้มากกว่า 7 กิโลกรัม โดยอาจคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับสัมภาระส่วนเกิน ซึ่งผู้โดยสารควรตรวจสอบกฎระเบียบของสายการบินที่ตนใช้บริการก่อนเดินทางทุกครั้ง

ขนาดกระเป๋าสัมภาระที่สามารถถือขึ้นเครื่องบินได้

ขนาดกระเป๋าเดินทางที่ถือขึ้นเครื่องบินได้นั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกฎสายการบิน สายการบินส่วนใหญ่กำหนดขนาดกระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่องไว้ที่

  • ขนาด: ไม่เกิน 56 x 36 x 23 เซนติเมตร (กว้าง x ยาว x สูง)

ตัวอย่างขนาดกระเป๋าสัมภาระขึ้นเครื่องของสายการบินชั้นนำในไทย

  • การบินไทย: 56 x 36 x 23 เซนติเมตร
  • บางกอกแอร์เวย์ส: 56 x 36 x 23 เซนติเมตร
  • ไทยแอร์เอเชีย: 56 x 36 x 23 เซนติเมตร
  • ไทยไลอ้อนแอร์: 30 x 40 x 20 เซนติเมตร
ขนาดกระเป๋าเดินทางขึ้นเครื่องบิน แอร์เอเชีย
ภาพจาก : airasia.com

เครื่องบินหนึ่งลำ บรรทุกน้ำหนักได้เท่าไหร่

โดยค่าเฉลี่ยแล้ว เครื่องบินพาณิชย์ลำหนึ่งๆ สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ประมาณ 100 ตันต่อเที่ยวบิน น้ำหนักนี้ประกอบด้วยน้ำหนักของเครื่องบินเปล่า ผู้โดยสาร นสัมภาระในห้องโดยสาร สัมภาระใต้ท้องเครื่อง และน้ำหนักของน้ำมันเชื้อเพลิง

น้ำหนักของเครื่องบินเปล่าจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรุ่นของเครื่องบิน สายการบินจะกำหนดน้ำหนักเฉลี่ยของผู้โดยสารไว้ที่ประมาณ 70 กิโลกรัม

น้ำหนักสัมภาระใต้ท้องเครื่องจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของผู้โดยสารเที่ยวบินนั้น ๆ ตามระเบียบสายการบินจะกำหนดน้ำหนักสัมภาระใต้ท้องเครื่องไว้ที่ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อผู้โดยสารหนึ่งคน

ตัวอย่างน้ำหนักบรรทุกของเครื่องบินพาณิชย์แต่ละรุ่น ดังนี้

  • โบอิ้ง 737-800: น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 100 ตัน
  • แอร์บัส A320: น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 95 ตัน
  • โบอิ้ง 747-8: น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 448 ตัน
  • แอร์บัส A380: น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 380 ตัน

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button