อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

ความเชื่อ”ปลาออร์ฟิช” ตำนานญี่ปุ่น สายพันธุ์เดียวกับพญานาค จริงไหม?

เปิดตำนาน “ปลาออร์ฟิช” จากความเชื่อของประเทศญี่ปุ่น พร้อมไขความลับเรื่องความเกี่ยวข้องกับพญานาค ในลุ่มแม่น้ำโขง หลังเคยมีภาพคนจับพญานาคได้

หากพูดถึงสัตว์ลึกลับ หลายคนอาจนึกถึงปลาหน้าตาประหลาดที่ตัวยาวคล้ายพญานาคอย่าง “ปลาออร์ฟิช” เพราะมันถือเป็นสัตว์น้ำลึก ที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก ทั้งยังมีรูปร่างหน้าตาเหมือนพญานาคที่คนไทย-ลาวกราบไหว้ จนถูกจำสลับว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันมาแล้ว วันนี้ไทยเกอร์เลยจะพาทุกท่านไปดูด้วยกันว่า แท้จริงแล้วปลาออร์ฟิชใช่พญานาคจริงหรือไม่ และมันกลายมาเป็นสัตว์ที่มีตำนานความเชื่อในญี่ปุ่นได้อย่างไรกันแน่

Advertisements

“ปลาออร์ฟิช” ตำนานสัตว์น้ำลึกญี่ปุ่น พญานาคลุ่มแม่น้ำโขง

ปลาออร์ฟิช (Oarfish) มีชื่อภาษาไทยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ปลาริบบิ้น ปลาพญานาค และปลาใบพาย โดยมันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Regalecus glesne จัดเป็นสัตว์ทะเลน้ำลึกที่พบเจอได้ยาก และมีความยาวมากถึง 36 ฟุต (11 เมตร) มาพร้อมน้ำหนักที่มากกว่า 300 กิโลกรัม

แต่แม้ว่าปลาออร์ฟิชจะเจอได้ยาก ทว่าชาวประมงและนักดำน้ำลึกหลายรายก็มีโอกาสได้พบเจอสัตว์ชนิดนี้อยู่บ้าง ซึ่งแน่นอนว่าการที่มนุษย์พบเจอปลาน้ำลึกแบบนี้ มักมาพร้อมกับความเชื่อเรื่องลึกลับ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะตำนานเล่าลือรื่องสัญลักษณ์ภัยพิบัติ และตำนานความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพญานาคของไทย

ปลาออร์ฟิช ความเชื่อญี่ปุ่น
ภาพจาก WarMonitoreu

ความเชื่อ ปลาออร์ฟิช ในประเทศญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า ปลาออร์ฟิชทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารจากพระเจ้าใต้ท้องทะเล เนื่องจากมันเป็นสัตว์ที่อยู่ในน้ำลึกมาก แต่กลับออกมาปรากฏตัวให้คนเห็น ในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว และสึนามิ พิสูจน์ได้จากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นมักมีข่าวผู้คนเจอปลาออร์ฟิชช่วงก่อนภัยพิบัติครั้งใหญ่ เช่น

ในช่วงต้นปี 2011 มีผู้พบเห็นปลาออร์ฟิชจำนวนมาก ถูกซัดมาเกยตื้นบริเวณชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่น สร้างความแปลกใจให้กับคนในพื้นที่ กระทั่งในวันที่ 11 มีนาคม 2011 ชาวญี่ปุ่นได้เจอกับฝันร้าย จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ที่มาพร้อมคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ในคาบสมุทรโอชิกะ จนถูกจัดให้เป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดอันดับ 4 ของโลก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นเกือบ 20,000 ราย และสูญหายอีกนับพันคน

นอกจากนี้แล้ว จากกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ในวันที่ 1 มกราคม 2024 ยังได้มีคนออกมาเปิดเผยคลิปวิดีโอที่นักดำน้ำ ไปเจอปลาออร์ฟิชใต้ทะเลไต้หวันในเวลาก่อนหน้านั้นไม่กี่วันออกมาด้วย ทำให้หลายคนเชื่อว่า การที่ปลาออร์ฟิชออกมาปรากฏตัวในน้ำตื้นของไต้หวัน อาจเพราะได้รับสัญญาณเตือนเรื่องแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียงอย่างญี่ปุ่นนั่นเอง

Advertisements

ทั้งนี้แม้จะมีทฤษฎีเชื่อมโยงมากมายระหว่าง ปลาออร์ฟิชและภัยพิบัติทางธรรมชาติ จนมันถูกขนาดนามว่าปลาแผ่นดินไหว (earthquake fish) เนื่องจากผู้คนบางกลุ่มมองว่า ปลาออร์ฟิชอาจออกมาจากน้ำลึก เพราะอุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนไป หรือได้สัญญาณแรงสั่นสะเทือนที่เกินความสามารถของมนุษย์ แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ออกมารับรองความเชื่อดังกล่าวแต่อย่างใด

ปลาออร์ฟิช คือ พญานาค จริงไหม

ปลาออร์ฟิช คือ พญานาค จริงหรือไม่?

ความจริงแล้ว ปลาออร์ฟิช ไม่ใช่พญานาค และมันเป็นสัตว์น้ำเค็ม จึงไม่มีโอกาสอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงแน่นอน แต่คนก็ยังมีความเชื่อเรื่องปลาออร์ฟิช กับตำนานพญานาคในหมู่คนไทยแถบลุ่มน้ำโขงและชาวลาว

นั่นก็เพราะว่าปลาออร์ฟิชมีลักษณะตัวและความยาวที่คล้ายกับพญานาค สัตว์ในตำนานที่คนไทย-ลาวนิยมกราบไหว้กันมานานหลายศตวรรษ อีกทั้งมันยังมีหงอนบริเวณหัว ซึ่งดูคล้ายกับตำราความเชื่อโบราณพอดิบพอดี จนทำให้ปลาออร์ฟิชถูกเรียกเป็นชื่อไทยว่า ปลาพญานาค และยังมีคนเข้าใจผิดว่ามันคือสัตว์ชนิดเดียวกันมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้แล้ว เมื่อช่วงปี 1996 ยังมีภาพไวรัลภาพหนึ่งถูกตีแผ่ไปทั่วประเทศไทยและลาว โดยเป็นภาพของชาวต่างชาตินับสิบคนที่กำลังช่วยกันอุ้มปลาพญานาค โดยเล่าลือกันว่า เป็นพญานาคที่จับได้จริงจากลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนที่ต่อมาจะมีความจริงปรากฏว่า ภาพดังกล่าวมาจากค่ายทหารที่เกาะโคโรนาโด รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยปลาที่จับได้คือปลาออร์ฟิชที่พบเจอในมหาสมุทรแปซิฟิก แถบทวีปอเมริกาใต้ ไม่ใช่พญานาคจากลุ่มแม่น้ำโขงแต่อย่างใด

แต่ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบันผู้คนจำนวนมากก็ยังเข้าใจผิดว่า ปลาออร์ฟิชคือพญานาค และเคยมีคนจับพญานาคได้ที่แม่น้ำโขงจริง ๆ แม้ว่าในทางวิทยาศาสตร์จะไม่เคยมีการระบุความเชื่อมโยงระหว่างปลาออร์ฟิชและพญานาคเอาไว้เลย เนื่องจากยังไม่มีข้อพิสูจน์เรื่องการมีอยู่จริงของพญานาค นอกจากนิทาน ตำนาน และความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่นเท่านั้น

ปลาออร์ฟิช ความเชื่อ

ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า ตำนานความเชื่อเรื่องปลาออร์ฟิชของประเทศญี่ปุ่น และพญานาคลุ่มแม่น้ำโขงระหว่างไทย-ลาว เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดที่เกิดจากการเชื่อมโยงและการสันนิษฐานเบื้องต้นของผู้คน ซึ่งยังไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์มารับรองแต่อย่างใด.

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button