ข่าว

‘โฆษกศาลยุติธรรม’ ชี้ความเห็นแย้ง จากทีม ‘ลุงพล’ ไม่มีผลต่อชั้นอุทธรณ์

โฆษกศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทีมทนายของ ลุงพล เตรียมใช้ความเห็นแย้งเข้าสู้ ชี้ไม่มีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยชั้นอุทธรณ์

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ศาลมุกดาหารพิพากษาจำคุก ลุงพล ไชย์พล วิภา จำเลยคดีน้องชมพู่เป็นระยะเวลา 20 ปี ว่า จำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ที่ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าควรยกฟ้อง (เห็นแย้ง)​ เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัยนั้น คำเห็นแย้งก็จะอยู่ในสำนวนท้ายคำพิพากษา

เมื่อเวลาคดีขึ้นสู่ศาลชั้นอุทธรณ์ องค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะเห็นทั้งตัวคำพิพากษาของศาลจังหวัดมุกดาหาร (ศาลชั้นต้น) และความเห็นแย้ง ซึ่งทางองค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะนำข้อมูลทั้งหมดในสำนวนทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นรวมทั้งความเห็นแย้งต่างๆ ที่คู่ความอุทธรณ์ขึ้นมาประกอบในการพิจารณาทำคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ แต่คำเห็นแย้งดังกล่าวคงไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์โดยตรง เพราะตัวความเห็นหลักยังเป็นความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดมุกดาหาร เพราะองค์คณะผู้พิพากษาเป็นคนสืบพยานเป็นผู้ที่เห็นข้อเท็จจริงในตอนที่พยานมาเบิกความ เห็นข้อเท็จจริงพยานหลักฐานต่างๆอย่างใกล้ชิด

ส่วนน้ำหนักความเห็นแย้งจะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมุมมองขององค์คณะผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ หากยังเห็นคล้อยไปตามเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษาก็เป็นดุลยพินิจของศาลในชั้นอุทธรณ์ ที่จะต้องวิเคราะห์วินิจฉัยจากข้อเท็จจริงจากคำเบิกความที่รับฟังมา ทั้งพยานเบิกความมาจากพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประกอบกัน และเห็นว่าตัวข้อเท็จจริงพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์กับคำเบิกความมีสอดคล้องกันเพียงพอเชื่อมั่นได้ว่าจำเลยน่าจะเป็นคนที่กระทำความผิด

นายสรวิศ กล่าวย้ำว่า ในการบังคับบัญชาของผู้พิพากษาหรือตุลาการไม่เหมือนกับข้าราชการฝ่ายอื่น เพราะถึงแม้ว่าโดยสายของการบังคับบัญชาในองค์กร ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะ จะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าศาล อธิบดีผู้พิพากษา แต่การบังคับบัญชาไม่มีผลต่อการพิพากษาคดี เพราะหลักการพิพากษาคดีเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นอิสระจากการแทรกแซงภายนอกและภายใ

ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลยพินิจในการพิพากษาออกไปได้ โดยที่ไม่ได้เน้นผลของการบังคับบัญชา แต่ในฐานะที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและอธิบดีผู้พิพากษาศาล เป็นผู้รับผิดชอบราชการในงานของศาลนั้น ก็มีส่วนในการดูแลความเรียบร้อยของศาลอยู่ในแล้ว ดังนั้นหากมีอะไรที่เห็นส่วนตัวอาจจะแตกต่างไปจากองค์คณะผู้พิพากษา ก็มีอำนาจตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่จะทำความเห็นไว้ในสำนวนได้

ส่วนที่กลุ่มนักกฎหมายที่ออกมาแสดงความเห็นนั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียดว่าออกมาแสดงความเห็นกันอย่างไรบ้าง แต่กระบวนการตรงนี้เป็นกระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมาย ที่องค์คณะผู้พิพากษามีอิสระในการรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยไปตามเหตุและผลจากพยานหลักฐาน ส่วนความเห็นแย้ง เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากที่ให้อำนาจผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและอธิบดีผู้พิพากศาลภาคไว้

ส่วนกรณีที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาคมีความเห็นแย้งจะต้องไปนั่งบัลลังก์หรือไม่นั้น เป็นคนละกรณีกัน กรณีที่ไปนั่งในห้องพิจารณาถือเป็นคณะส่วนหนึ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ปกติแล้วคนที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้จะต้องเป็นองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นมาแต่ต้น หรือได้รับการแต่งตั้งเข้ามาแทนที่กรณีสุดวิสัย แต่อำนาจในการตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งเป็นอำนาจเพิ่มเติมที่รัฐธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดมาให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล อธิบดีผู้พิพากษาศาล หรือประธานศาล แม้จะไม่ได้นั่งพิจารณาเองแต่ในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูศาล ก็สามารถตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งไว้ได้ หากเห็นว่าเป็นกรณีที่สมควรต้องทำความเห็นแย้งไว้

ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดปกติจะมี 2 คน และต้องเป็นคนละองค์คณะกับผู้พากษาศาลอุทธรณ์ ที่จะมี 3 คน โดยองค์คณะศาลอุทธรณ์จะเป็นผู้พิพากษาที่ทำงานในชั้นอุทธรณ์ และได้รับการจ่ายสำนวน การมอบหมายจากประธานศาลอุทธรณ์

โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า ส่วนความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีความสงสัยตามสมควรจึงเห็นควรยกประโยชน์ให้จำเลย ตรงนี้จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยนช์หรือไม่ระบุว่า คงไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรง เพราะความเห็นแย้งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นความเห็นแย้งของเสียงข้างมากในคดีนั้น ดังนั้นผลของคำพิพากษาตัวคำความเห็นแย้งตรงนี้ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงของคำพิพากษาโดยตรง เพียงแต่เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาในชั้นสูงขึ้นไป

และเรื่องการยกประโยชน์แห่งความสงสัยเป็นเงื่อนไขปกติในกฎหมาย ซึ่งในคดีอาญาหลายคดีก็ต้องพิจารณาอยู่แล้วว่าพยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบมา มีเหตุทำให้วิญญูชนทั่วไปเกิดความสงสัยได้หรือไม่ว่า ตัวจำเลยหรือผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ซึ่งพยานหลักฐานเหล่าที่ที่ผู้ทำความเห็นแย้งดูเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกัน เพียงแต่บางจุดหรือข้อเท็จจริงบางส่วนอาจจะมีมุมมองที่เห็นต่างกันได้ แต่ในการวินิจฉัยมีหลักอยู่แล้วตามเงื่อนไขของกฎหมาย หากมีเหตุสงสัยสามารถยกประโยชน์ให้จำเลยได้

ความเห็นแย้งของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและอธิบดีผู้พิพากษาศาล เคยเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะและก่อนหน้านี้ในศาลใหญ่ๆ ก็เคยมีเหตุการณ์ คล้ายๆ กันไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เพราะเป็นเรื่องของการตรวจสำนวนตั้งข้อสังเกตไว้ชั้นสำนวนปกติ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่ผิดปกติไป ที่ผ่านมาจะเห็นบางคดีที่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นไป คำพิพากษาของศาลชั้นสูงก็อาจแตกต่างไปอาจจะกลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ เพราะแม้พยานหลักฐานชุดเดียวกันแต่อาจจะมีความเห็นหรือมุมมองที่ต่างกันได้ ผู้พิพากษาแต่ละท่านก็จะใช้ประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวมาดูแต่ละคนก็มีมุมมองที่แตกต่างกัน

 

 

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button