เวิลด์แบงก์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะโตที่ 3.2% ดิจิทัลวอลเล็ตดันโตอีก 1% แต่ขาดดุลการคลังเพิ่ม 4-5% ของจีดีพี ส่วนหนี้สาธารณะส่อพุ่งสูงขึ้น 65-66% ของจีดีพี
วันที่ 14 ธ.ค. 2566 ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน (Fabrizio Zarcone) ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย หรือ เวิลด์แบงก์ (World Bank) ออกมาเผยคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2567 ซึ่งทางธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะฟื้นตัว โดยโตขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปี 2566 ปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคงจากปี 2566 ที่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและการลดการใช้จ่ายภาครัฐ
ธนาคารโลกฯ ยังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้นในระดับปานกลางที่ 3.1% ในปี 2568 ส่วนอัตราอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะชะลอตัวลง 1.1% ในปี 2567 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่คาดว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ผจก.เวิลด์แบงค์ประจำประเทศไทย เชื่อว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นและราคาน้ำมันที่สูงอาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานสูงกลายเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ
นายฟาบริซิโอ ยังได้กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีการวางแผนไว้ ซึ่งมูลค่าโครงการคิดเป็นประมาณ 2.7% ของจีดีพี หากมีการดำเนินโครงการคาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นได้เพิ่มขึ้น 0.5-1% ของจีดีพี ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2567 และ 2568 แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ของจีดีพี ในขณะที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 65-66% ของจีดีพี
นายฟาบริซิโอ กล่าวอีกว่า การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573
ขณะที่ในส่วนของมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขของประเทศไทย การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการกำหนดราคาคาร์บอนจะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยลดลง ในปี 2562 ความเสียหายต่อสุขภาพที่มาจากการสัมผัสมลพิษ PM2.5 ทำให้ประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 6% ของ จีดีพี.