ไลฟ์สไตล์

เปิดกฎหมาย ม.112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

กางประมวลกฎหมายอาญา ตอบคำถามเกี่ยวกับ ‘มาตรา 112’ ลักษณะของการกระทำความผิด เปิดบทลงโทษ ไม่มีโทษปรับและโทษอื่น ๆ ละเมิดกฎหมายจำคุกสถานเดียว

รู้จัก “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” หรือ “ม.112” คือ กฎหมายลงโทษผู้กระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย โทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี นับเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ประชาชนในสองฝั่งอำนาจถกเถียงกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับอัตราโทษจำคุกที่สูงเกินไป การตีความการกระทำผิดที่ไม่ชัดเจน และการบังคับใช้กฎหมายที่กว้างขวางไร้ขอบเขต และเมื่อฝ่ายหนึ่งปรารถนาให้แก้ไข ส่วนอีกฝ่ายต้องการให้ดำรงอยู่ ความขัดแย้งทางความคิดจึงเกิดขึ้น อีกทั้งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแก้ไขที่บ้างก็กล่าวว่าเป็นการล้มล้าง ข้อถกเถียงเหล่านี้จึงไม่มีท่าทีจะจบสิ้น

แม้หลายคนจะคุ้นเคยกับ ม.112 ผ่านการได้ยินคนพูดถึง หรือแม้กระทั่งได้รับรู้จากข่าวสารก็ตาม แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบถึงความหมายที่แท้จริง และยังขาดความเข้าใจในข้อกฎหมายฉบับนี้ วันนี้ทาง Thaiger จึงได้รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาคลายความสงสัยให้กับทุกท่าน

ทำความรู้จัก ม.112 กฎหมายลงโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำคุกสถานเดียว

ม.112 คืออะไร

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นกฎหมายว่าด้วยความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ข้อกฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญาที่ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ด้วยเหตุนี้ ในบางครั้งมาตรา 112 จึงถูกเรียกว่าเป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้จะเป็นชื่อย่อย ๆ ที่หลายคนมักเรียกกัน แต่ว่าก็ถือเป็นคำเรียกที่ตีความกว้างกว่าเนื้อหาจริง ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้

ประมวลกฎหมายมาตรานี้ เป็นกฎหมายไทยสมัยใหม่ที่บรรจุความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2453) ต่อมามีการเพิ่มให้ลักษณะการกระทำ “ดูหมิ่น” ยึดถือเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 โดยการแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2500 หลังจากนั้นการตีความคำว่า “ดูหมิ่น” ที่หมายถึงการแสดงความไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันจึงเป็นฉนวนที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทเรื่อยมา

จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2519 ในสมัยเผด็จการสงัด ชลออยู่ หลังจากยึดอำนาจรัฐในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ข้อความในมาตรา 112 ที่กล่าวว่า สามารถใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ โดยการระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี หากบุคคลใดละเมิดข้อกฎหมายดังกล่าว ได้ถูกยึดถือยึดมั่นใช้มาถึงในปัจจุบัน แม้ว่าประชาชนบางส่วนจะลงความเห็นว่าขัดแย้งกับวิถีของประชาธิปไตยก็ตาม

ทำความรู้จัก ม.112 กฎหมายลงโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำคุกสถานเดียว

บทลงโทษผู้ละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112

หากผู้ใดฝ่าฝืนกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประมวลกฎหมายได้ระบุว่า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี โดยไม่มีโทษปรับและการลงโทษอื่น ๆ กล่าวคือ หากกระทำ 1 ครั้ง หรือที่ในทางกฎหมายมักเรียกว่า 1 กรรม เมื่อศาลพิจารณาเห็นว่า นับเป็นความผิด ทางศาลก็มีดุลพินิจที่จะกำหนดโทษจำคุกได้ความเห็นสมควรภายใต้ขอบเขต 3-15 ปี ทั้งนี้จะพิจารณาจากความร้ายแรงของการกระทำ ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงสถานะของจำเลย

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติที่ผ่าน ๆ มา ผู้พิพากษาจะพิจารณาจากแนวทางที่ผู้พิพากษาท่านอื่น ๆ เคยตัดสินไว้ในคดีก่อนหน้า ประกอบร่วมกับการตัดสินใจส่วนตน เหตุที่กระทำเช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้ผลคำพิพากษาออกมาแตกต่างในฐานความผิดที่คล้ายคลึงกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นการกระทำ “ยี่ต๊อก”

ย้อนคดีโทษจำคุกสูงสุดผู้กระทำความผิด ม.112

การตัดสินโทษในคดีมาตรา 112 โดยปกติแล้วจะอยู่ภายใต้อำนาจศาลอาญา เว้นแต่ในช่วงสมัยการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปีพ.ศ. 2557-2559 ที่อำนาจตัดสินจะเป็นของศาลทหาร

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ศาลจะกำหนดโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม อาทิ คดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข, คดีของดารณี (ดา ตอร์ปิโด), คดีของอำพล (อากงSMS) และคดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า แต่สำหรับในบางคดีโทษจำคุกก็อาจจะมากหรือน้อยกว่า 5 ปี ตามแต่ผู้พิพากษาเห็นสมควร

ช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2557-2559 ในยุคการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การพิจารณาโทษจะอยู่ภายใต้อำนาจของศาลทหาร และผู้ตัดสินคดีก็จะเป็นทหารทั้งหมด จากผลการตัดสินในดีที่ผ่านมาของศาลทหารนั้น บทลงโทษจะอยู่ที่การจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ต่อการกระทำ 1 ครั้ง ดังเช่น คดีของหัสดิน และจำเลยอีก 9 คน, คดีของพงษ์ศักดิ์, คดีของเธียรสุธรรม และคดีของสมัคร

ทำความรู้จัก ม.112 กฎหมายลงโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำคุกสถานเดียว

‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ กับโทษจำคุก 29 ปี 174 เดือน

แม้ในประมวลกฎหมายอาญาจะกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำผิดไว้ที่ 3-15 ปี ต่อ 1 กรรม แต่หากกระทำผิดเกินกว่า 1 กรรม ระยะเวลารับโทษก็จะถูกทบเท่าทวีคูณขึ้นไป ดังเช่นในคดีของ อัญชัญ ปรีเลิศ หญิงข้าราชการใกล้เกษียณอายุ เธอเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง

จุดเริ่มต้นของการกระทำผิดนั้นมาจากการที่อัญชัญชอบฟังรายการวิเคราะห์การเมืองของ ‘บรรพต’ บนเว็บไซต์ ต่อมาเธอได้กลายเป็นผู้ถูกดำเนินคดีม. 112 จากการแชร์รายการของบรรพต ด้วยโทษจำคุกถึง 29 ปี 174 เดือน หรือ 43.6 ปี

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ ถูกจับกุม และถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 5 วัน ณ ค่ายทหารแห่งหนึ่ง ในจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยคดี 112 โดยในช่วงระหว่างนั้นการพิจารณาโทษอยู่ภายใต้อำนาจของศาลทหาร ด้วยความผิดจำนวน 29 กรรม จากการแชร์คลิปทั้งหมด 29 คลิป โทษสูงสุดที่เธออาจได้รับจึงมากถึง 435 ปี (15 ปี x 29 กรรม) ซึ่งเธอเป็นผู้ละเมิดกฎหมายอาญา ม.112 ที่จำนวนโทษมากที่สุดในเครือข่ายคนที่ทางการไทยกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเครือข่ายบรรพต

ต่อมาในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2564 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกอัญชัน โทษฐานอัปโหลดและแชร์คลิปเสียงของรายการบรรพต ทั้งหมด 29 ครั้ง กรรมละ 3 ปี รวมระยะเวลาจำคุกเป็น 87 ปี ด้วยเหตุจำเลยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมทั้งสิ้นจำคุกเป็นเวลา 29 ปี 174 เดือน หรือ 43 ปี 6 เดือน

จากคำตัดสินลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิดในกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ผ่านมา ประชาชนบางส่วนได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาแก้ไขข้อกำหนดทางกฎหมายให้มีความเป็นธรรมและอ่อนข้อต่อผู้ละเมิดกฎหมายมากขึ้น อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ม.112 ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button