ข่าว

คนไทยป่วย ‘ไข้หูดับ’ พุ่งครึ่งพัน อ.เจษฎา เตือนสายปิ้งย่าง อย่าใช้ตะเคียบคีบหมูดิบ

อ.เจษฎา เตือนบรรดาคนไทย หากกินปิ้งย่างชาบูไม่แยกที่คีบระหว่างหมูสุก-หมูดิบ เสี่ยงป่วย ‘ไข้หูดับ’ เผยสถิติน่าหวั่นปีนี้พบผู้ป่วย 500 ราย เสียชีวิตอีก 24 ราย

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์คลิปแบ่งปันความรู้จากรายการ “ชัวร์แน่ หรือแชร์มั่ว” ep.107 ตอน กินหมูดิบ เป็นไข้หูดับ จริงหรือ?

Advertisements

คลิปดังกล่าวได้เผยว่า คำเตือนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประชาชนเคยได้ยินกันเกี่ยวกับประเด็น “อย่ากินหมูดิบ เพราะเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หูดับ” เป็นความจริงทุกประการ อีกทั้งยังน่ากลัวกว่าที่หลาย ๆ คนคาดคิด จึงขอเตือนประชาชนอย่ากินหมูดิบ หรือลาบเลือดดิบ ๆ รวมไปถึงอาหารปิ้งย่าง

ทั้งนี้ ควรมีอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบ แล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับแล้ว อาจทำให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่า ‘หูดับ’ จนถึงขั้นหูหนวกถาวรได้

อ.เจษฎา เตือนทาสรักปิ้งย้างชาบู กินหมูดิบเสี่ยงเป็น 'ไข้หูดับ' อันตรายถึงชีวิต

รายงานข่าวจาก สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ ทั้งจากการกินหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ และดื่มสุราร่วมกับกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ รวมไปถึงพ่อครัว แม่ครัว ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผลแล้วไปสัมผัสเนื้อหมู หรือเลือดหมูดิบ ๆ ที่มีเชื้อ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้

ซึ่งจากสถิติผู้เข้ารับการรักษาโรคไข้หูดับในประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 พบว่า มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 500 ราย มีผู้เสียชีวิต 24 ราย แบ่งออกเป็น จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดน่าน, จังหวัดสุโขทัย, จังหวัดกำแพงเพชร, จังหวัดพิจิตร, จังหวัดสมุครสาคร, จังหวัดหนองคาย, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนจังหวัดละ 1 ราย

Advertisements

ส่วนจังหวัดตาก, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดอุทัยธานี, จังหวัดนครปฐม จำนวนจังหวัดละ 2 ราย ทางจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดนครราชสีมา พบจำนวน 3 และ 4 รายตามลำดับ

โรคไข้หูดับ เกิดจากการกินเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ โรคไข้หูดับสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา

เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด

อย่างไรก็ดี อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกเตือนถึงปัญหาสุขภาพน่าหวั่นที่หลาย ๆ คนยังคงละเลย พร้อมแนะให้ประชาชนรับประทานหมูอย่างถูกวิธี โดยมีวิธีการดังนี้

1. รับประทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส

2. อาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”

3. ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา

4. เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู

5. ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

ทั้งนี้ หากท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหูดับ หรือโรคอื่น ๆ สามารถข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button