“ขนทรายเข้าวัด” นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่เราคุ้นเคยกันดีในช่วงวันสงกรานต์ ซึ่งนอกจากจะขนทรายแล้วก็ยังมีการก่อ “พระเจดีย์ทราย” อีกด้วย ทุกคนเคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงมีประเพณีการขนทรายเข้าวัดเกิดขึ้น แล้วนอกจากการขนทรายแล้ว เราสามารถขนอย่างอื่นเข้าวัดได้หรือไม่ วันนี้ The Thaiger จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับประเพณี “ขนทรายเข้าวัด” กันให้มากขึ้น
ขนทรายเข้าวัดชำระหนี้สงฆ์ ทำบุญอุ่นใจก่อนเที่ยวสงกรานต์
ขนทรายเข้าวัดมีที่มาจากไหน จุดประสงค์คืออะไร
การขนทรายเข้าวัดสันนิษฐานว่ามีมาแต่โบราณแล้ว แต่ไม่อาจทราบช่วงเวลาได้อย่างแน่ชัด ซึ่งประเพณีดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะในสมัยก่อน “วัดทางภาคเหนือ” มักนิยมทำพื้นที่ให้เป็นลานทรายเพื่อความสะอาด เนื่องจากการเททรายที่พื้นจะทำให้วัชพืชหรือหญ้าไม่ค่อยขึ้น อีกทั้งเวลาคนมาทำบุญก็จะไม่มีเศษดินเศษโคลนเปื้อนเท้า เวลาเดินเข้าวิหารหรือศาลาก็ไม่สกปรกเลอะเทอะ
นอกจากนี้ ในสมัยโบราณนั้นผู้คนมักไม่นิยมสวมรองเท้าเข้าวัดกัน ด้วยคติความเชื่อที่ว่าวัดเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงมักจะถอดรองเท้าก่อนเข้าสู่อาณาบริเวณวัด และเมื่อสาธุชนที่มาทำบุญที่วัดย่างเท้าเข้ามา ทรายเม็ดเล็ก ๆ นั้นก็อาจจะติดเท้าออกไปบ้าง นับว่าเป็นการนำของสงฆ์ (ทราย) ออกไปจากวัดโดยไม่รู้ตัว
ด้วยหลากหลายปัจจัยตามที่เล่าไปนี้เอง จึงมีการออกกุศโลบายขึ้นมาเพื่อให้สาธุชนทั้งหลายได้ช่วยกันนำทรายเข้ามาเติมเต็มในวัด อีกทั้งยังมีจุดประสงค์เป็นการชำระหนี้สงฆ์ไปในตัวด้วย ทั้งนี้ในสมัยก่อน ทรายเป็นวัสดุที่ไม่ได้หากันได้ง่าย ๆ จึงต้องมีการร่วมแรงร่วมใจกันของผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาช่วยกันขนทรายเข้ามาที่วัด
ทำไมต้องขนทรายเข้าวัดในช่วงสงกรานต์ ขนอย่างอื่นได้หรือไม่
อย่างที่ได้เล่าไปว่าวัดทางภาคเหนือมักทำพื้นที่เป็นลานทราย ซึ่งไม่เพียงแต่จะมาจากปัจจัยด้านความสะอาดเท่านั้น แต่การทำลานทรายเชื่อว่ามาจากคติการสร้างวัดให้เหมือนกับจักรวาลทางศาสนาพุทธ โดยจะเปรียบองค์พระเจดีย์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บริเวณใจกลางของวัดเหมือนเขาพระสุเมรุที่ตั้งอยู่ใจกลางจักรวาล
ส่วนกลุ่มอาคารวิหารต่าง ๆ ก็เปรียบเหมือนสถานที่ที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอีกทีหนึ่ง โดยพื้นที่ระหว่างอาคาร โบสถ์ และวิหารต่าง ๆ ก่อนที่จะถึงองค์พระเจดีย์ จะเป็นลานทรายเพื่อแทนที่มหาสมุทรสีทันดรที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ (องค์พระเจดีย์) โดยเมื่อแสงตะวันส่องกระทบเม็ดทรายก็จะดูคล้ายคลื่นน้ำในทะเลจริง ๆ
ไม่เพียงแค่ความเชื่อตามคติทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ด้วยองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าต้องมีทรายเป็นส่วนผสม ดังนั้นเมื่อฤดูแล้งมาถึง (ช่วงเดือนเมษายน) น้ำในแม่น้ำก็จะลดลงเหลือแต่เนินทรายเนียนละเอียดให้ได้ใช้งานในการบูรณะวัด
ขนทรายเข้าวัดวันไหน ของช่วงเทศกาลสงกรานต์
อย่างที่ทราบกันดีว่าวันสงกรานต์จะตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี โดยในวันที่ 13 จะเรียกกันว่า “วันสังขานต์ล่อง” หรือ “วันสังขารล่อง” ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีเก่า ส่วนวันที่ 14 จะเรียกว่า “วันเนาว์” หรือ “วันเน่า” เป็นวันที่อยู่ระหว่างรอยต่อของปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ ส่วนวันที่ 15 จะเรียกกันว่า “วันพญาวัน” เป็นวันมงคลเริ่มต้นปีใหม่
การทำบุญขนทรายเข้าวัดนั้น จะนิยมทำกันในช่วงวันสงกรานต์ ก็คือวันที่ 13-15 เมษายน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมจัดงานทำบุญขนทรายเข้าวัดและก่อเจดีย์กันมากที่สุดใน “วันเนาว์” หรือวันที่ 14 เมษายนนั่นเอง ด้วยเหตุที่ว่าเป็นวันครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างปีเก่าไปปีใหม่ จึงนิยมทำสิ่งที่เป็นมงคลกันเพื่อต้อนรับปีใหม่
จากประเพณีขนทรายเข้าวัด สู่การเป็นสำนวนขนทรายเข้าวัด
การขนทรายเข้าวัด นอกจากจะเป็นหนึ่งในประเพณีการทำบุญที่นิยมมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วนั้น ก็ยังกลายมาเป็นสำนวนที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อีกด้วย โดยทางราชบัณฑิต ได้ให้ความหมายของ “ขนทรายเข้าวัด” แปลว่า “(สำ) หาประโยชน์ให้ส่วนรวม”
คำว่า “ขนทรายเข้าวัด” มักใช้ในการเปรียบเปรยถึงการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม เพราะการขนทรายเข้าวัดเป็นกิจกรรมที่ต้องบำรุงสาธารณสถานทางพุทธศาสนาร่วมกันนั้นก็คือ “วัด” จึงต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำ จึงนับว่าเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อส่วนร่วม
นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีไทยแล้ว การขนทรายเข้าวัดเพื่อนำมาก่อเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชานั้น ยังส่งผลให้ผู้ประกุศลกรรมได้รับอานิสงส์จากการทำบุญในครั้งนี้อย่างมหาศาล คือจะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร
ด้วยเหตุแห่งผลบุญนี้เอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเพณีขนทรายเข้าวัดยังคงสืบทอดกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน หากใครที่ตั้งใจไว้ว่าสงกรานต์นี้จะออกไปเล่นน้ำคลายร้อน ก็อย่าลืมแวะไปทำบุญกันก่อน และเล่นน้ำอย่างมีสติ เมาไม่ขับ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุกันด้วยนะ