ย้อนอดีต รัฐประหาร ในประเทศ “เมียนมา” รัฐประหารเมียนมา มีมาแล้วกี่ครั้ง
1 ก.พ. 64 คณะ รัฐประหาร เมียนมา ได้ทำการประกาศสภาวะฉุกเฉิน โดยจะทำการปกครองประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี และการรัฐประหารในอดีตเป็นอย่างไร
รัฐประหาร เมียนมา – หลังจากได้รับเอกราช ประเทศเมียนมา (หรือพม่าในขณะนั้น) ก็มีนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศที่ชื่อ อู้นุ ที่เป็นผู้นำสูงสุดระหว่างปี 2491-2499 ก่อนจะลาบวชแล้วกลับมารับตำแหน่งคำรบสองระหว่างปี 2500-2501 และรับตำแหน่งเป็นหนที่สาม ระหว่างปี 2503-2505
รัฐประหารครั้งแรก พ.ศ. 2505:
อู้นุ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ซึ่งเขาประกาศนโยบายผ่อนปรนให้ชนกลุ่มน้อย และประกาศให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธเกิดความไม่พอใจ รวมถึงมีความตึงเครียดทางการทหารและการลุกฮือของชนกลุ่มน้อย
จนกระทั่งในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2505 พลเอก เนวี่น ได้ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล และประกาศตั้งพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าเพื่อนำประเทศเข้าสู่ลัทธิสังคมนิยมแบบเต็มตัว
โดยปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึกจนถึง พ.ศ. 2517 จึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐสังคมแห่งสหภาพพม่า
การก่อการกำเริบ 8888 และรัฐประหารครั้งที่สอง พ.ศ. 2531:
เนวี่น ปกครองพม่ายาวนานถึง 26 ปี จนกระทั่ง วันที่ 8 ส.ค. พ.ศ.2531 หรือ ค.ศ.1988 (อันเป็นที่มาของชื่อ การก่อการกำเริบ 8888) เหล่านักศึกษาในย่างกุ้งลุกฮือประท้วงการปกครองของรัฐบาลเนวิ่น ก่อนที่จะดึงมวลชนจากหลากหลายอาชีพทั่วประเทศมาร่วมการประท้วง มีการปะทะกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจนมีผู้บาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งวันที่ 18 ก.ย. พ.ศ.2531 พลเอกอาวุโส ซอมอง ได้ก่อการรัฐประหาร ประกาศกฎอัยการศึก ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 และจัดตั้งสภาสันติภาพและสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (สลอร์ก)
ด้วยเหตุนี้ทำให้การประท้วงทวีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตแตะหลักหมื่นคน บาดเจ็บนับไม่ถ้วน และสูญหายจำนวนมาก ในขณะที่บางส่วนก็หลบหนีเข้ามายังประเทศไทย ก่อนที่การประท้วงจะยุติลงในเดือน ต.ค. ปีเดียวกันนั้นเอง
รัฐประหารครั้งที่สาม พ.ศ. 2535:
การรัฐประหารครั้งนี้ นำโดยพลเอกอาวุโส ต้านชเว ที่ขึ้นมาล้มอำนาจของพลเอกอาวุโส ซอมอง เกิดขึ้นในวันที่ 23 เม.ย. พ.ศ. 2535 (โดยพลเอกอาวุโส ซอมอง ก้าวลงจากตำแหน่งโดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ)