รู้จัก พ.ร.บ.สุราชุมชน เปิดทางผู้ผลิตเหล้า-เบียร์ รายย่อย เทียบสุราก้าวหน้า
สิ้นสุดยุคผูกขาด! รู้จัก พ.ร.บ. สุราชุมชน คืออะไร เปิดประตูโอกาส ผู้ผลิตรายย่อย สร้างความหลากหลายตลาดสุราไทยสู่เวทีโลก เทียบชัด ๆ ต่างกับ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้ายังไง
หลังจากที่เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตผ่าน พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ….. หรือ พ.ร.บ.สุราชุมชน มีมติเอกฉันท์ 415 เสียง เห็นชอบร่างกฎหมาย และงดออกเสียง 5 เสียง ส่งผลให้วงการสุราในประเทศไทย ได้ก้าวสู่อีกขั้นของการรวมตัวผู้ผลิตรายย่อยในการรังสรรค์สุราไทยให้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ทางด้านของ คุณอ๊อบ-ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ อดีตเจ้าของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นเจ้าของ Deva Farm ฟาร์มปลูกฮอปส์แห่งแรกในไทย เจ้าเดียวในประเทศไทย ได้อธิบายถึงตัว พ.ร.บ. สุราชุมชน ฉบับนี้ว่า
“มีเพื่อน ๆ ถามกันมาเยอะครับ ว่า พรบ. ที่ผ่านวันนี้ทำอะไรได้บ้าง สรุปสั้น ๆ ว่า สาระสำคัญที่แก้คือ แก้ให้ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึง กลุ่มเกษตรกร สามารถทำเหล้า
ทำเบียร์ได้ทุกชนิด จากเดิม ที่เราทำ จิน รัม บรั่นดี วิสกี้ ไม่ได้ บรรจุเบียร์ลงกระป๋องไม่ได้ หรือ มีขั้นต่ำที่ต้องทำ 30,000 ลิตรต่อวัน ข้อจำกัดพวกนี้จะไม่มีแล้วครับ
ตอนนี้คือ รอผ่าน สว. อีกด่านนึง แล้วทุกอย่างต้องปลดล็อคทั้งหมดใน 180 วันครับ ฉลองกันก่อนได้เลยครับ ขอบคุณทุกๆกำลังใจ และความอดทนของพวกเราทุกคนครับ”
พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า หรือชื่อเต็มคือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. คือ ร่างกฎหมายที่มุ่งแก้ไขข้อจำกัด และปลดล็อกการผลิตสุรา โดยเฉพาะสุรากลั่นชุมชนและเบียร์ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มเกษตรกร และบุคคลทั่วไป
จากเดิมที่กฎหมายกำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติ และกำลังการผลิตขั้นต่ำไว้สูงมาก ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้าสู่ตลาดได้ยาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเข้ามาทลายข้อจำกัดเหล่านั้น เปิดทางให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเสรีมากขึ้น
สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ชุมชน
1. ปลดล็อกการผลิตสุรากลั่นชุมชน จากเดิมที่การขออนุญาตผลิตสุรากลั่นชุมชน (เช่น เหล้าขาว เหล้าสี ยาดอง) มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวด และถูกจำกัดด้วยกำลังการผลิต ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะผ่อนคลายข้อกำหนด เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร สามารถขออนุญาตผลิตได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำกัดกำลังการผลิตขั้นต่ำ
2. เปิดกว้างการผลิตเบียร์ (Brewpub) จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำสูงมาก (เช่น ต้องผลิตขั้นต่ำ 100,000 ลิตรต่อปี สำหรับเบียร์ที่บรรจุขวด และขั้นต่ำ 1,000,000 ลิตรต่อปีสำหรับเบียร์สด) และกำหนดทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ทำให้มีเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะยกเลิกข้อกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ และเปิดโอกาสให้ผลิตเบียร์สดเพื่อจำหน่ายในร้านอาหารของตัวเองได้ (Brewpub)
3. ผลิตสุราแช่ (เช่น จิน รัม บรั่นดี วิสกี้) อื่น ๆ นอกเหนือจากสุรากลั่นชุมชน จากเดิมที่การขออนุญาตผลิตสุราประเภทอื่นที่ไม่ใช่สุรากลั่นชุมชน มีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่สูงมาก ร่าง พ.ร.บ. นี้จะปลดล็อกข้อจำกัด เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าสู่การผลิตและจำหน่ายได้มากขึ้น
4. เปิดทางเบียร์กระป๋อง การผลิตเบียร์และบรรจุลงกระป๋อง จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องกำลังการผลิตขั้นต่ำ
5. ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุญาต ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตผลิตและจำหน่ายสุราให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของ พ.ร.บ. สุราชุมชน
1. ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกรลดการผูกขาด เปิดโอกาสให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อย เข้าสู่ธุรกิจสุรา สร้างรายได้ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
2. เพิ่มความหลากหลายในตลาดสุรา ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ได้ลิ้มลองสุราท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
3. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร โดยเกษตรกรสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นสุรา เพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างรายได้ที่มั่นคง
4. กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสุราท้องถิ่นที่เติบโต จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
5. ลดการผลิตและบริโภคสุราเถื่อน เมื่อมีทางเลือกที่ถูกกฎหมายมากขึ้น จะช่วยลดปัญหาการผลิตและบริโภคสุราเถื่อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
6. ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การเปิดกว้างให้ผู้ผลิตรายย่อย จะช่วยลดการผูกขาดตลาด และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา หากผ่านความเห็นชอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน ซึ่งจะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมสุราไทย และเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร และผู้บริโภคอย่างแน่นอน
เทียบ พ.ร.บ. สุราชุมชน VS สุราก้าวหน้า ต่างกันอย่างไร
แม้ว่าทั้ง พ.ร.บ. สุราชุมชน และ พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า จะมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตสุราในระดับท้องถิ่นและชุมชน แต่ก็มีความแตกต่างกันในหลักการ ขอบเขต และรายละเอียด ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
พ.ร.บ. สุราชุมชน (เสนอโดย ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.พรรคเพื่อไทย)
1. ระบุเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตสุรา
2. การออกใบอนุญาตจะต้องมีสาระสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย
3. ไม่สร้างเงื่อนไขหรือภาระ ให้แก่ผู้ขออนุญาตเกินความจำเป็น
พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า (เสนอโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.พรรคประชาชน)
1. การผลิตสุรา สามารถกระทำได้โดยทั่วไป
2. ผลิตสุราเพื่อการค้า ต้องขออนุญาต
3. ไม่กำหนดเงื่อนไขการขออนุญาต ทั้งเรื่องขนาด กำลังการผลิต จำนวนพนักงาน และจำนวนทุนจดทะเบียน
หมายเหตุ : อ้างอิงจากมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 2 ตุลาคม 2567 และระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิด 4 เป้าหมาย พ.ร.บ.สุราชุมชน สภาไฟเขียว หวังลดทุนใหญ่ผูกขาด
- ผ่านฉลุย ไร้เสียงค้าน “พ.ร.บ.สุราชุมชน” ให้รายย่อยผลิตเองได้
อ้างอิง : เฟซบุ๊ก Nattachai Ungsriwong