เปิด 2 ทางออก หลัง “เศรษฐา” หลุดเก้าอี้นายก ยุบสภา หรือเสนอชื่อโหวตนายกใหม่
จับตาสถานการณ์การเมืองไทย หลังเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉันให้พ้นจากตำแหน่ง เปิด 2 ฉากทัศน์ พรรคเพื่อไทย ประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หรือเสนอชื่อแคนดิเดตนายก โหวตผ่านสภาอีกคำรบ
กรณีศาลรัฐธรรมนูลวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหตุจากฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ด้วยการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีสำนักนายก โดยมีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ส่งผลให้หน้าที่ผู้นำประเทศคนที่ 30 สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) มาตรา 160 (4) และมาตรา 160 (5)
อย่างไรก็ดี หลังนายเศรษฐา พ้นจากเก้าอี้นายกฯ คณะรัฐมนตรีชุดเดิมจะขึ้นมาเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการแทน จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยตอนนี้คนที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดชะตาการเมืองไทย คือ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ซึ่งทำหน้าที่เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ที่มีอำนาจประกาศยุบสภาได้
“ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” 2 ฉากทัศน์สุดท้าย ลุ้นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ทางเลือกแรกที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือ การยุบสภา เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง เหมือนปี 2566 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งใหม่ ภายในระยะเวลา 45-60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้การยุบสภา ยังก่อให้เกิดผลทางกฎหมายต่อ สส. และ คณะรัฐมนตรี ดังนี้
1. สส. ในสภาจะพ้นจากตำแหน่งทันที เนื่องจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าเมื่อมีการยุบสภา สภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงพร้อมกัน และต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ ส่วนสมาชิกวุฒิสภาจะยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ
2. คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งและยุติหน้าที่ตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 181 ระบุว่าคณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ามารับหน้าที่ นั่นแปลว่าคณะรัฐมนตรีชุดเก่าจะกลายเป็นรักษาการ และมีอำนาจหน้าที่อย่างจำกัด ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
2.1 ไม่กระทำการอันเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้ง หรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
2.2 ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
2.3 ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป
2.4 ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด
ทางเลือกต่อมา หากรักษาการนายกรัฐมนตรีไม่ทำการยุบสภา จะต้องอาศัยกลไกลจากรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศแทน
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้ระบบรัฐสภา โดยประกอบไปด้วย สส.จำนวน 500 คน และ สว. จำนวน 250 คน รวมสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน เป็นผู้ที่มีสิทธิลงความเห็นชอบในการเลือกนายกคนใหม่
ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อตามที่พรรคการเมืองเสนอไว้กับทางกกต. เท่านั้น และจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี สส. ในสภาไม่ต่ำกว่า 25 คน ส่งผลให้ขณะนี้มี 9 รายชื่อ ที่อาจได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกแทนเศรษฐา หากไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้น
- แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
- ชัยเกษม นิติสิริ สส.บัญชีรายชื่อเพื่อไทย
- อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
- พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
อ้างอิง : สถาบันพระปกเกล้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง