อ.เจษฎา ชี้ ดื่มน้ำขวดพลาสติกใส ไม่เสี่ยงเป็นเบาหวาน แนะอย่าตื่นตระหนก
อย่าเพิ่งตกใจ อ.เจษฎา เฉลยแล้ว ดื่มน้ำจากขวด PET ไม่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน ไม่มีสาร BPA ที่ลดความไวของร่างกายต่ออินซูลินเป็นส่วนผสม เตือนประชาชนอย่าเชื่อข่าวปลอม
ช่วงนี้มีข่าวลือแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ว่า การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกเป็นประจำ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น โรคเบาหวาน แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อมูลและไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วว่า
ข่าวลือดังกล่าวเป็นการตีความผลการวิจัยที่คลาดเคลื่อน โดยงานวิจัยที่อ้างถึงนั้นศึกษาเกี่ยวกับสาร Bisphenol A (BPA) ที่อาจพบในพลาสติกบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมนและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ แต่สาร BPA นี้ไม่ได้อยู่ในขวดน้ำพลาสติกที่เราใช้กันทั่วไป
ขวดน้ำพลาสติกส่วนใหญ่ทำจาก PET (Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ปลอดภัยและไม่พบว่ามีการปนเปื้อนของ BPA ดังนั้น การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกใสทั่วไปจึงไม่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานแต่อย่างใด
จากการสุ่มทดลองกับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง 40 คน กำหนดให้มีคนที่ได้รับยาหลอก (Placebo) และคนที่ได้รับสาร BPA 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการให้สารเคมีโดยตรง เมื่อเทียบเท่ากับปริมาณที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (EPA) ใช้แล้ว ถือว่าปัจจุบันอยู่ในประเภทปลอดภัย
ผลการทดสอบ พบว่า ผู้ที่ได้รับสาร BPA จะตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin) น้อยลงหลังจากผ่านไป 4 วัน ส่งผลต่อการเผาผลาญกลูโคส (Glucose) การทดลองในครั้งนี้ถือเป็นการศึกษาครั้งแรกที่ยืนยันว่า การบริโภค BPA เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 หรือเบาหวานที่เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน
ส่วนใหญ่สารเคมี BPA จะใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และขวดน้ำพลาสติกที่ทำจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) ซึ่งมี BPA ปนอยู่ สามารถลดความไวต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลให้ควบคุมการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายได้
สมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา (ADA) เรียกร้องให้อุตสาหกรรมมีกฎระเบียบควบคุมปริมาณสาร BPA ให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อผู้บริโภคสัมผัสสารเคมีเหล่านี้แล้วจะไม่ได้รับอันตราย
สรุปได้ว่าการดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่ม PET ไม่ได้ทำให้เสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน เพราะไม่ได้มี BPA เป็นส่วนผสม แต่อย่างไรก็ดีการใช้ขวดโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) ยังคงน่ากังวล เพราะมีสาร BPA เป็นส่วนประกอบสูง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง